วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผนึกกำลัง เอ็น.ซี.ซี. จัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2567 หรือ International Engineering Expo 2024 ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนประสิทธิภาพความยั่งยืนทางวิศวกรรม” โดยรวบรวม “เทคโนโลยี – เวทีการค้า – สัมมนาวิชาการ” ไว้ในงานเดียว พบเทคโนโลยี โซลูชันตอบโจทย์งานวิศวกรรม เวทีการค้าประจำปี ร่วมอัปเดตเทรนด์โลก และสัมมนาวิชาการกว่า 72 หัวข้อ ต่อยอดองค์ความรู้วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน พร้อมยกระดับการจัดงานสู่เวทีระดับนานาชาติ ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข (ขวา) ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024
สมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข ประธานคณะกรรมการจัดงาน International Engineering Expo 2024 กล่าวถึงความร่วมมือกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2024 หรือ International Engineering Expo 2024ว่า งานวิศวกรรมแห่งชาติเป็นงานที่วสท. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องประจำทุกปีเพื่อเป็นเวทีให้วิศวกรทุกสาขาได้อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ รองรับความก้าวหน้างานวิศวกรรมระดับโลก โดยปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนประสิทธิภาพความยั่งยืนทางวิศวกรรม” เพื่อยกระดับการจัดงานสู่เวทีระดับนานาชาติ ต่อยอดความแข็งแกร่งด้านสัมมนาวิชาการ
งานสัมมนาวิชาการในปีนี้จึงมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจถึง 72 หัวข้อ ครอบคลุมทุกสาขางานวิศวกรรม ภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนประสิทธิภาพความยั่งยืนทางวิศวกรรม” อาทิ ด้านนวัตกรรม ในเรื่องของงานก่อสร้างอุโมงค์ผาเสด็จ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายอีสาน มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ / แนวทางการพัฒนา มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนงานวิศวกรรมสู่ความยั่งยืน / สายไฟฟ้าใต้ดินในระบบส่งและระบบจำหน่าย เป็นต้น ด้านกฎหมาย จะพูดคุยถึงมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อให้สอดคล้องเทคโนโลยีวิศวกรรมสมัยใหม่ / การอัปเดตกฎหมายและมาตรฐานใหม่ในการป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น ด้านการสร้างมาตรฐาน ในหัวเรื่องการยกระดับวิชาชีพการตรวจสอบและงานวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัย / การพัฒนาทักษะการดับเพลิงกู้ภัยภายในอาคาร / มาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ ในบริเวณอันตราย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อแนวทางการก้าวสู่วิศวกรระดับวิชาชีพป้องกันอัคคีภัย / การสัมมนาด้านพลังงานไฟฟ้าและนวัตกรรมจาก MEA ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนานอกจากจะได้อัปเดตความรู้ใหม่ในแวดวงวิศวกรรมแล้ว จะได้รับใบประกาศวุฒิบัตรและคะแนนสะสม PDU ด้วย
ในส่วนของงานแสดงเทคโนโลยีวิศวกรรมปีนี้จะเชื่อมโยงสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น โดยแบ่งโซนเทคโนโลยีออกเป็น 7 กลุ่ม คือ 1. ด้านการก่อสร้างและซ่อมบำรุง 2. ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันวิศวกรรม IoT SI และ AI 3. ด้านการป้องกันภัยและรักษาความปลอดภัย 4. กลุ่มโซลูชันด้านพลังงานไฟฟ้า พลังงานทางเลือก พลังงานแสดงอาทิตย์ รถพลังงานไฟฟ้า 5.ระบบกำเนิดพลังงานไฟฟ้า การส่งไฟฟ้ากำลัง 6. หุ่นยนต์ และ 7. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
สุรพล อุทินทุ (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สุรพล อุทินทุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวถึงความร่วมมือในการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ว่า เป็นการรวมความแข็งแกร่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในด้านองค์ความรู้ Content ทั้งหมดในทุกสาขาวิศวกรรม กับความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อยกระดับการจัดงานให้เป็นงานระดับนานาชาติ โดยงาน International Engineering Expo 2024 มีส่วนในการสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิศวกรรมของไทย ทั้งในการสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน อุโมงค์ โรงไฟฟ้า) ไปถึงโครงการขนาดย่อมที่ทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตของเราดีขึ้น (เช่น บ้าน อาคาร) ซึ่งทั้งหมดมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ในส่วนของนิทรรศการ มีบูธจัดแสดงเทคโนโลยี – นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมกว่า 150 บริษัท เช่น การจัดการความเสี่ยง วัสดุโครงสร้างที่สร้างคาร์บอนต่ำ ระบบที่ช่วยควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้า ซอฟต์แวร์การเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร AI สำหรับงานวิศวกรรม เทคโนโลยีสำหรับอาคารอัจฉริยะ เป็นต้น
อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การพัฒนาทักษะสำหรับวิศวกรแห่งอนาคต ผ่านการแข่งขัน Battle Robot สนามประชันทักษะทางวิศวกรรม ซึ่งรวมระบบดิจิทัล แมคคานิกส์ และเทคโนโลยีระบบพลังงาน เข้าด้วยกัน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ / การแข่งขันเขียนโปรแกรม Construction Cost Estimation Using BIM Contest เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่ง วสท.ร่วมกับคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุมจัดขึ้น โดยจะมีการตัดสินรอบสุดท้ายและประกาศผลในระหว่างงาน
“ความพิเศษในปีนี้ ยังมีกิจกรรม Business Matching ในรูปแบบการนัดหมายเจรจาทางธุรกิจ ฝ่ายจัดซื้อ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทวิศวกรรมด้านต่างๆ บริษัทผู้รับเหมาโครงการ รวมถึงผู้ซื้อจากประเทศในกลุ่ม CLMV ด้วย ตลอดทั้ง 3 วัน คาดมีผู้เข้าชมงานซึ่งมีทั้งกลุ่มวิศวกรทุกสาขา ฝ่ายจัดซื้อ Sourcing ผู้บริหารที่มีส่วนในการตัดสินใจซื้อ หรือมีแผนกเกี่ยวกับงานวิศวกรรม งานซ่อมบำรุง ของบริษัทวิศวกรรมด้านต่างๆ บริษัทผู้รับเหมาโครงการ
ทั้งจากในและต่างประเทศกว่า 30,000 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท” สุรพล กล่าว
ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
ด้านดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) กล่าวถึงการสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ว่า งาน International Engineering Expo 2024 เป็นเวทีนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมวิศวกรรม นับเป็นงานสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน เป็น Marketing Tools ที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกัน ผู้ประกอบการสามารถสัมผัสและเปรียบเทียบเทคโนโลยีจากหลายแบรนด์ชั้นนำ รวมทั้งสามารถทดลองใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อนการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบันเทรนด์โลกได้ให้ความสำคัญกับวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยถือเป็นอันดับหนึ่งด้านการจัดงานด้านความยั่งยืน (Sustainable) ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับข้อมูลและแนวทางการนำวัสดุเหล่านี้นำกลับไปใช้ใหม่ พร้อมจัดการขยะต่างๆ หลังจากจบงานอีกด้วย
สสปน. เล็งเห็นงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ที่เกิดจากการใช้จ่ายของนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าร่วมงาน ครอบคลุมทั้งด้านการท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม ร้านอาหารและบริการต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเสวนาร่วมแชร์วิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยวิศวกรรมเมือง และระบบขนส่งมวลชน” โดยวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยมี ดร.ธีรธร ธาราไชย กรรมการประชาสัมพันธ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นผู้ดำเนินรายการ
รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ปัจจุบันวิศวกรต้องรับมือกับเทคโนโลยีที่้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นความท้าทาย โดย
วิศวกรรุ่นใหม่จะต้องแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่อสร้างที่ไม่หยุดนิ่้ง ขณะเดียวกันจะต้องเข้าสังคม เพื่อสร้าง Connection ทำให้ทำงานร่วมกันได้ด้วยดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น คนญี่ปุ่นรับผิดชอบต่อหน้าที่สูงมาก
งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2567 หรือ International Engineering Expo 2024 จัดพร้อมกับงาน ASEAN TOOLS EXPO งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องมือช่าง งานเดียวที่ตอบโจทย์ทุกงานช่าง เพื่อให้วิศวกรที่เข้าชมงานและเลือกซื้อทั้งที่เป็นการสั่งซื้อในระดับองค์กร และการซื้อปลีกทั่วไปในระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 10:00 – 18:00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์