บริษัท ครีเอตุส คอร์โปเรชั่น จำกัด โดย ไตรนุภาพ จิระไตรธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้นำธุรกิจโซลูชั่นและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU ) กับผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนมุ่งสร้างวิศวกรเปลี่ยนโลกและโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ตอบรับโลกอนาคต ณ อินโนจีเนียร์ สตูดิโอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เศรษฐกิจใหม่มีความต้องการบุคลากรที่ก้าวหน้าด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีแนวคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรมได้ ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาการศึกษา Active Learning ทั้งภาคทฤษฎีและทักษะห้องปฏิบัติการ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง Maker Space ต่าง ๆ เพื่อเจนเนอเรชั่นใหม่ทุกคน
สำหรับความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหิดล กับบริษัท ครีเอตุส คอร์โปเรชั่น จำกัด ในฐานะองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านโซลูชั่นครบวงจร (End-to-End Solutions) และผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมระดับโลก โดยบริษัทฯ จะนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่สั่งสม ตลอดจนระบบนิเวศทางธุรกิจมาสร้างประโยชน์ให้กับการอุดมศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศ ทั้งในรูปแบบการบ่มเพาะนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup Incubation) ร่วมสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้แก่บัณฑิต (Curriculum Partnership)
“บริษัทฯ จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน โดยจะจัดทีมผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยายคลาสในชั้นเรียนด้วย, การร่วมผลิตผลงานวิชาการที่ตอบโจทย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (Joint Publication) ทั้งในรูปแบบของงานวิจัย บทความทางวิชาการม กรณีศึกษา หรืองานให้คำปรึกษา เป็นต้น รวมทั้งการร่วมสร้างเสริมประสบการณ์จริงทางธุรกิจให้กับนักศึกษา (Experiential Learning) อาทิ การฝึกงาน และการนำนักศึกษาเข้าไปศึกษาดูงาน” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
ไตรนุภาพ จิระไตรธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเอตุส คอร์โปเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัท ครีเอตุส คอร์โปเรชั่น จำกัด ก่อตั้งมากว่า 39 ปี โดยเป็นองค์กรผู้นำธุรกิจโซลูชั่นและนวัตกรรมของประเทศไทย สำหรับธนาคาร สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมระบบรักษาความปลอดภัย ค้าปลีก โรงแรมและสำนักงาน โรงพยาบาลและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยี ปัจจุบันมียอดขายกว่า 320 ล้านบาท บริษัท ฯ เห็นความสำคัญของพลังความร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ
“ความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ เรามุ่งที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนสนับสนุนระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่ในการศึกษาและพัฒนาความรู้ สั่งสมความรู้ความสามารถไปพัฒนาต่อยอดโอกาสทางธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพในอนาคต ซึ่งเรามีพื้นที่ Eco System หรือระบบนิเวศที่เป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่สามารถคิด และแสดงออกได้ โดยนักศึกษาไม่ต้องเสี่ยงหรือต้องลงทุนเอง ในการดำเนินงานของโครงการบ่มเพาะ Startup Academy เริ่มแรกจะให้คำแนะนำนักศึกษาในการจัดตั้งทีมเทคสตาร์ทอัพ ประกอบด้วย หัวหน้าทีม, ฝ่ายขาย, ฝ่ายการตลาด, ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น และนำทีมนักศึกษาที่สมัครมาเข้าร่วมกิจกรรม Onboarding Program ที่ครีเอตุสฯ ซึ่งจะประกอบด้วย การเรียนรู้ รูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการ โอกาสทางธุรกิจ รวมถึงกระบวนการบ่มเพาะไอเดีย จะมีแผนกต่าง ๆ มาช่วยให้คำแนะนำนักศึกษาในการจัดทำแผนธุรกิจ และแปลงแผนธุรกิจสู่การปฏิบัติจริง” ไตรนุภาพ กล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดโซลูชั่นและนวัตกรรมในปีพ.ศ.2563 พบว่า ภาคธุรกิจอยู่ระหว่าง Disrupt ตัวเอง เพื่อรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมและกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรง สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจมีความต้องการบุคลากรและโซลูชั่นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำ Digital Transformation ขององค์กร รวมถึงโซลูชั่นและนวัตกรรมหลังยุคดิจิทัล (Post-Digital Era) ซึ่งครอบคลุมพื้นฐานเทคโนโลยีหลักอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่ โซลูชั่นและนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Social Media, โซลูชั่นและนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Mobile, โซลูชั่นและนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Analytic และโซลูชั่นและนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Cloud เป็นต้น