กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” เพื่อช่วยเหลือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 2. ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 3. เกษตรกรและธุรกิจการเกษตร และ 4. ประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” ด้วยการปรับ เพิ่ม สร้างทักษะใหม่ สร้างโอกาสทางอาชีพอิสระสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้งบประมาณปกติจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในครึ่งปีหลัง 35% ประมาณ 150 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจำนวนมากแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ภาคธุรกิจการผลิต 76%, ภาคธุรกิจการค้า 16% และภาคธุรกิจบริการ 8% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตหลัก 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์การเกษตรแปรรูป 26%, อาหารและเครื่องดื่ม 29% และอุตสาหกรรมอื่น ๆ 45% ส่งผลให้ประสบปัญหาด้านการเงิน ขาดสภาพคล่อง เป็นหนี้, ยอดขายลดลงเนื่องจากไม่มีสถานที่ขายสินค้า, การผลิตลดลงจากการขาดกำลังซื้อ, ต้องหยุดจำนวนวันทำการผลิตและแรงงานเพื่อพยุงสถานะการเงินของบริษัท และขาดโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าให้ตรงตามกำหนดเวลา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กสอ.จึงเร่งขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักด้วยการปรับ เพิ่ม สร้างทักษะใหม่ สร้างโอกาสทางอาชีพอิสระสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้งบประมาณปกติจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในครึ่งปีหลัง 35% คิดเป็นเงินประมาณ 150 ล้านบาทในการดำเนินงาน
กสอ.เร่งฟื้นฟู 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก
สำหรับ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่ กสอ.ดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม โดยจะเข้าไปเสริมองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันร่วมกัน พร้อมมองหาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การทำงานไม่ประสบความสำเร็จร่วมกับผู้ประกอบการ แรงงาน และส่วนสำนักงานเขตอุตสาหกรรมจังหวัด ในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่เฉพาะช่วง COVID-19 โดยมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในยุคความปกติแบบใหม่ (New Normal) ผ่านกิจกรรมและโครงการ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ SME สู้วิกฤต COVID-19 จากผู้เชี่ยวชาญของ กสอ.ที่ลงพื้นที่ร่วมทำงาน เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดทำแผนช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพ ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ คาดว่าจะสามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการกว่า 4,000 กิจการ จาก 35,000 ราย และคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 448 ล้านบาท กระจายในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างเป็นระบบ
2. ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน โดยจะเข้าไปพัฒนาชุมชน, วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น เชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแนวใหม่ หรือ New Normal ที่ผสมผสานความเป็นไทย ใช้เวลาท่องเที่ยวภายใน 1 วันแบบเช้าไปเย็นกลับ พร้อมทั้งนำเครื่องจักร นวัตกรรม และงานวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งร่วมกันทำงานเข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนและวิสาหกิจชุมชนนำไปปรับใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีนักเรียน นักศึกษาที่เข้าสู่การฝึกงานลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนเพื่อนำองค์ความรู้จากห้องเรียนสู่ชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า 11 ชุมชน เช่น “บ้านศาลาดิน” ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และโฮมสเตย์ “บ้านนาต้นจั่น” อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 87 ล้านบาท
3. เกษตรกรและธุรกิจเกษตร โดยจะเข้าไปพัฒนาทักษะการบริหารจัดการอุตสาหกรรมลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเชิงเดี่ยว ยกระดับชุมชน และสร้างรายได้ในท้องถิ่น ยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาทักษะการค้าออนไลน์ ให้เข้ามาร่วมฟังการบรรยายจากวิทยากรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Zoom, Facebook, Line และ Microsoft Teams เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างรายได้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ การขยายผลงานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ชี้เฉพาะด้านปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงในการทำการเกษตร ธุรกิจเกษตรในช่วงเวลาต่าง ๆ ว่าผลิตภัณฑ์การเกษตรชนิดใดที่กำลังสร้างรายได้และชนิดใดที่ไม่ควรทำในขณะนั้นเพราะราคาตกและสินค้าล้นตลาด เป็นต้น คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิตของ SME กระตุ้นยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 78 ล้านบาท
4. ประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยจะใช้การปรับ เพิ่ม สร้างทักษะใหม่ สร้างโอกาสทางอาชีพอิสระสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ให้เกิดขึ้นในทุก ๆ อุตสาหกรรม จะเน้นการทำงานในภูมิลำเนา เน้นเจ้าของกิจการที่มาช่วยแนะนำสอนผู้ที่ยังไม่เคยทำธุรกิจ หรือเคยทำมาบ้างแล้ว มาปรับเปลี่ยนการทำงานจนกระทั่งทำธุรกิจได้และเป็นเจ้าของกิจการ สำหรับบัณฑิตจบใหม่ที่สนใจการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีการอบรมออนไลน์การประกอบธุรกิจ การเขียนแบบจำลองธุรกิจออนไลน์ และแผนทดสอบการตลาด แผนเบื้องต้นจะกำหนดผู้เข้าอบรมไม่ต่ำกว่า 2,500 คน คาดว่าผู้เข้าอบรมกว่า 15% จะสามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ได้ทันทีในธุรกิจยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, หุ่นยนต์, โลจิสติกส์, ดิจิทัล, การแพทย์และสาธารณสุข, แฟชั่น และเกษตรแปรรูป เป็นต้น ที่สำคัญเพื่อป้องกัน COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอกเพราะยังไม่มีวัคซีนที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าแพทย์และภาครัฐจะควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับที่ดีมากอยู่แล้วก็ตาม คาดว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การมีงานทำได้กว่า 6,000 คน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 185 ล้านบาท
“กสอ.คาดว่าจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมผ่านพ้นภาวะวิกฤต COVID-19 และเป็นแนวทางเสริมภูมิคุ้มกันที่จำเป็นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยจะสามารถสร้างมูลทางเศรษฐกิจกว่า 800 ล้านบาท ส่วนในอนาคตจะมีการต่อยอดแนวทางการทำงานดังกล่าวอย่างแน่นอนโดยจะใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฉุกเฉินของรัฐบาลมาเสริมโครงการดังกล่าวให้ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ภายใต้แนวคิดของการส่งเสริมแบบ “ปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน” ต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าว