หนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้มีความพร้อม แข่งขันในตลาดธุรกิจเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สานต่อโครงการ (DIPROM) เพื่อเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ ให้มีความพร้อมผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) รุ่นที่ 2 มุ่งเน้นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายฐานตลาด และสร้างเครือยข่าย ผลักดันการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ในการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการ ขยายเครือข่ายเงินทุน ขยายเครือข่ายตลาด และขยายเครือข่ายนานาชาติ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ อุตสาหกรรม ดีพเทค (Deep Technology) เข้าร่วมโครงการ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผ่านโครงการดีพร้อม (DIPROM) เร่งสานต่อโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานอุตสาหกรรมในอนาคต โดยในปีที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวสามารถที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกว่า 350 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2564 นี้ตั้งเป้าว่าจะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 2 เท่า หรือประมาณ 700 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการนั้นจะใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาด ในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ มาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน 2.การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพและสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ 3.การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและ4.การขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศในอนาคต
กสอ.เผยรุ่นที่ 2 มีโมเดลธุรกิจจำนวน 25 ทีม คาดมีเงินทุนสนับสนุนจาก Angel Fund กว่า 500 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า โครงการดีพร้อม ของ กสอ. เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 มีสตาร์ทอัพสนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนมาก โดยทาง กสอ มุ่งเน้นคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 สาขา ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Tech) สาขาเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Tech) สาขาเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) และสาขาไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ซึ่งมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น นวัตกรรมแพลตฟอร์มวินิจฉัยปัญหาและควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 20% , นวัตกรรมระบบเก็บข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกแบบอัตโนมัติผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และกล้อง CCTV นวัตกรรมช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลาย (Payment Gateway) พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM Feature Subscription), นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าวิธีการกายภาพบำบัดและนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นกระแสไฟฟ้า (BioCircuit) เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและบ่มเพาะส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดปัญหาเป็นมูลเหตุ ต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม ที่นำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาในแต่ละสาขาชิ้นงานผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมมีคุณภาพ สามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ เพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต
“ในรุ่นที่ 2 ของโครงการนี้มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจ จำนวน 25 ทีม คาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนประมาณกว่า 500 ล้านบาทจากกองทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ หรือ Angel Fund ที่มีภาคเอกชนอย่างบริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุนเป็นปีที่ 6 แล้วในขณะนี้ โดยมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริม Startup ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) เพื่อให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ช่วยลดการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท” ดร.ณัฐพล กล่าว
สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการในปี’63 ส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านต้นทุนในการทำธุรกิจ
สำหรับอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพที่ดำเนินโครงการในปีพ.ศ.2563 ที่ผ่านมาพบว่า สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะประสบปัญหาด้านต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรายใหม่ที่ยังไม่มีเงินทุน ไม่เป็นที่รู้จักและสถานะทางการเงินยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ได้ง่ายกว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจและต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน จึงได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect ในประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ อุตสาหกรรมดีพเทค (Deep Technology) สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพจากบริษัทเอกชนชั้นนำที่สนใจลงทุน ในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องพัฒนาตนเองและพร้อมที่จะเปิดรับกิจกรรมบ่มเพาะ กิจกรรมแนะนำการทำการส่งเสริมการตลาดต่างๆผ่านผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยแนะนำถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามรถและค้นพบจุดเด่นจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละผลิตภัณฑ์ของตนเองเพิ่มเติมด้วย
แผ่นปิดแผลแบบก้าวหน้าหวังต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ตรงตามความต้องการของตลาดทุกรูปแบบ
นพ.การุณ ตรงนำชัย ศัลยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลแผลของผู้ป่วยมากว่า 20 ปี ซึ่งเป็นผู้คิดค้นผลิตแผ่นปิดแผลแบบก้าวหน้า Hydromesh และ Hydromesh SN กล่าวว่า แผ่นปิดแผลแบบก้าวหน้า Hydromesh และ Hydromesh SN เป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นจากการทำงานที่เห็นผู้ประสบเหตุมีแผลมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ทำการล้างแผลใหม่ในทุก ๆวันลอกผ้าปิดแผลแล้วผู้ประสบเหตุ หรือผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังจากการเป็นโรคมะเร็ง และโรคเบาหวานจะต้องทนทุกข์ทรมานกับการทำแผลล้างแผลบ่อย ๆ และทำให้เสียเวลาในการล้างแผลทุก ๆวัน โดยนวัตกรรมนี้จะเป็นการนำเอา Hydrogel มา Coat บน Mesh และเพิ่มเติมสาร Silver Nano เพียงใช้ผ้าปิดแผล ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยให้สามารถทำแผลได้เองง่ายๆที่บ้าน เพียงทำความสะอาดแผลและนำแผ่นปิดแผลติดทับบริเวณบาดแผล ผ้าปิดแผลถูกออกแบบมาพิเศษเคลือบด้วยสาร Hydrogel Dressing ช่วยในการดูดซับของเหลว และยังช่วยรักษาสมดุลของแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว ลดการเกิดแผลเป็น ด้วยวัสดุที่ออกแบบมาพิเศษ ยังช่วยให้แผ่นปิดแผลไม่ติดแผล ลดอาการเจ็บปวดจากการเปลี่ยนผ้าปิดแผล และไม่ต้องเสียเวลาในการทำแผลทุกวัน เนื่องจากสามารถปล่อยทิ้งผ้าปิดแผลไว้ได้นานถึง 3 วัน แล้วถึงทำการเปลี่ยนผ้าปิดแผลแผ่นใหม่ ซึ่งเริ่มต้นวิจัยและพัฒนาจากระดับห้องปฏิบัติการจนสามารถทำการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมประมาณ 3 ปี ได้รับทุนวิจัยยสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (RMUTK), หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยและวิศวกรรมภาคเอกชนของ สวทช. (CDP) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
นอกจากนี้ยังได้รับมาตรฐาน GMP จากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งได้ทดลองใช้ในผู้ป่วยที่คณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสามารถซื้อได้ทางช่องทางจำหน่ายออนไลน์ และร้านขายยาขององค์การเภสัชกรรมในบางสาขาแล้วในขณะนี้
“สำหรับการเข้ามาร่วมโครงการ ดีพร้อม ของ กสอ. นั้นหวังว่าจะได้องค์ความรู้ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อนำไปช่วยพัฒนาต่อยอดสร้างรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจซื้อไปใช้ บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาดทุกรูปแบบทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างจุดเด่นเฉพาะสำหรับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง หรือนำสมุนไพรไทยมาผสมผสานสานแผ่นปิดแผลที่ยากแก่การเลียนแบบ เป็นต้น” นพ.การุณ กล่าว