กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงและความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนารูปแบบและกลไกการดำเนินงานและการให้บริการของกรุงเทพมหานคร นำไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น โดยมีกรอบความร่วมมือครอบคลุมเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. เพื่อประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและด้านระบบการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น
รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้จากทาง สวทช. ไปใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและภารกิจของกทม. ครอบคลุมในมิติด้านความปลอดภัย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การเดินทาง เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการ เพื่อให้คน กทม. มีความสุขมากยิ่งขึ้น เช่น การบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่ายและกวดขันวินัยจราจร, การตรวจแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine, การศึกษาทางไกล เรื่องสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ให้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน, ด้าน Open DATA เปิดเผยข้อมูลโปร่งใสและเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาฝุ่นและขยะ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิรูปการทำงานของระบบราชการ จากเดิมที่เคยเป็นระบบท่อ ก็เปลี่ยนเป็นการรับเรื่องแก้ปัญหาอยู่บนแพลตฟอร์มและช่วยกันให้บริการประชาชน ซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่จำเป็นต้องสั่งการด้วยตัวเอง ที่สำคัญทุกคนสามารถเห็นว่าทุกคำร้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานานเท่าใด และมีความโปร่งใสเท่าเทียมกันบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. พร้อมสนับสนุน กทม. ในการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่ ดังตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การบริหารจัดการเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดย กทม.ได้นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ซึ่งพัฒนาโดยเนคเทค สวทช. ไปใช้ในการดูแลด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านบริหารจัดการ เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งจุดเสี่ยง ความสะอาด การบริหารจัดการข้อมูลของเมือง ซึ่งปัจจุบันมีการแจ้งเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วกว่า 180,000 เรื่อง ได้รับการแก้ปัญหาแล้ว กว่า 120,000 เรื่อง
ด้านการให้บริการสาธารณสุข เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์หลังบ้านเพื่อส่งต่อผู้ป่วยจากระดับปฐมภูมิไปยังระดับทุติยภูมิ และส่งต่อไปยังตติยภูมิหรือหน่วยงานเฉพาะทาง และสามารถส่งต่อระหว่างจากหน่วยปฐมภูมิสู่โรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถติดตามข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยทั้งสองฝั่งแบบ Real Time และส่งกลับเพื่อการรักษาได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รองรับการทำงานการรับส่งต่อผู้ป่วยเพื่อดูแลต่อที่บ้าน (Home Health Care) ช่วยลดปัญหาความแออัดในการใช้บริการของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครใช้งานระบบ e-Referral แล้ว 7 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลกลาง 2.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 3. โรงพยาบาลตากสิน 4.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 5.โรงพยาบาลสิรินธร 6.โรงพยาบาล หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และ 7.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
นอกจากนี้ สวทช. ยังมีผลงานวิจัยที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้ประชาชน เช่น ระบบ A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ทางไกล ตัวช่วยบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 กลุ่มสีเขียวและเหลือง ในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 รวมกว่า 1,300,000 คน ครอบคลุม 1,500 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และเตรียมขยายผลสู่ A-MED Care ซึ่งดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม ร้านยาคุณภาพ สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคทั่วไป โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ช่วยลดการเดินทางและค่าใช้จ่ายผู้ป่วย รวมถึงลดความแออัดให้แก่สถานพยาบาล ปัจจุบันมีร้านขายยาในกรุงเทพมหานครที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 600 ร้าน สามารถดูแลผู้ป่วยกว่า 10,000 คน
“สวทช. มีความพร้อมในการใช้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี รวมถึงแพลตฟอร์มบริการต่างๆ เพื่อเป็นแรงเสริมสำคัญด้านวิชาการที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานครให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวทิ้งท้าย