การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อยกระดับชุมชนคลองเตยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนพื้นที่องค์การฟอกหนังเดิม ถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย สมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ข้าราชการ พนักงาน และประชาชนร่วมพิธีเปิดโครงการฯ
โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ยกระดับชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวชุมชนคลองเตยในอนาคต ทางกทท. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดสรรพื้นที่องค์การฟอกหนังเดิม ถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อยกระดับชุมชนคลองเตยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม ด้วยระบบบริหารจัดการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ทันสมัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่ นอกจากนี้ในอนาคตมีแผนที่จะทำรถไฟฟ้าโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เชื่อมต่อเข้ามาในบริเวณนี้ด้วย แต่ในเบื้องต้นจะนำทางรถไฟสายเก่าที่ขนน้ำมันดิบจาก จ.กำแพงเพชร มาทำเป็นรถไฟชุมชน เพื่อขนส่งประชาชนเข้ามาในบริเวณนี้ไปพลางก่อน โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ใช้รางเป็นผู้รับผิดชอบ
ย้อนรอยโครงการ Smart Community
สมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของชุมชนคลองเตยที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กทท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ขององค์การฟอกหนังเดิมทั้งสิ้น 58 ไร่ รูปแบบเป็นอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวมทั้งหมด 6,144 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนของ กทท.เองทั้งหมด แบบห้องเป็นแบบ 1 ห้องนอน 33 ตารางเมตรทุกยูนิต ภายในบริเวณนี้นอกจากมีที่อยู่อาศัยแล้วยังมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตคลองเตย, สถานีตำรวจนครบาลคลองเตย, โรงเรียน, มูลนิธิ มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมนันทนาการของคนในโครงการฯ มีพื้นที่สีเขียวตามโซนต่าง ๆ มีพื้นที่จอดรถเป็นสัดส่วน รวมถึงจัดพื้นที่ค้าขายให้คนในชุมชน และมีการวางระบบการคมนาคมที่รองรับการสัญจรในพื้นที่อย่างเป็นระบบให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วย
เป้าหมายของโครงการ Smart Community สร้างประโยชน์ให้กับเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า แผนพัฒนาพื้นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือ ชุมชนพื้นที่ กทท. 26 ชุมชนมีประมาณ 12,000 ครอบครัว ชุมชนใต้ทางด่วน 5 แห่งมีประมาณ 500 ครอบครัว และหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนจำนวนหนึ่งที่เป็นลูกจ้างของ กทท. และประชาชนภายนอกแสดงเจตจำนงเข้ามาขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ซึ่งการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาเป็นอาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น 4 อาคาร เป็นห้องพักขนาด 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ตั้งอยู่ในซอยทวีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยดังกล่าวจะได้สิทธิ์ 1 ใน 3 ทางเลือก
“หากชาวชุมชนดังกล่าวไม่อยากรับสิทธิประโยชน์เป็นห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร กทท.ยังมีทางเลือกให้อีก 2 ทาง คือ ที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอกและมีนบุรี จำนวน 2,140 แปลง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่คลองเตยที่สนใจ ลงชื่อย้ายไปอยู่สามารถนำไปปลูกเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ใช้ชีวิตตามฝัน และทางเลือกสุดท้ายเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หากต้องการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตนเอง ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นในช่วงก่อนหน้านี้ 30% จะไม่ย้ายมาอยู่คอนโดมิเนียม แต่จะขอใช้ที่ดินที่หนองจอกและมีนบุรี และอีก 20% จะขอรับเงินก้อนเพื่อจะกลับภูมิลำเนา แต่จะต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง” รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม กทท.จะเร่งกำหนดเงื่อนไขกับทางฝ่ายกฎหมายของกทท. โดยหลังจากนี้ กทท. จะลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนเพื่อที่จะได้จัดสรรพื้นที่ได้ตามความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงจะส่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับชุมชนด้วยว่า สิ่งที่ กทท.ดำเนินการนั้น เพื่อเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นธรรมแก่ทุก ๆ ฝ่าย