คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยชี้แจงและตอบคำถามการพิจารณาทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 โดย ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา มีมติตรึงราคาค่าไฟในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 คงที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือค่าเอฟทีอยู่ที่ 39.72 สตางค์ ในส่วนของผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะเรียกเก็บหน่วยละ3.99 สตางค์ตามเดิม
ก่อนหน้านี้ที่ประชุม กกพ. ครั้งที่ 28/2567 ในวันที่ 10 ก.ค.67 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 เป็นที่มาให้สำนักงานงาน กกพ.ได้นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางในการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นทางสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 กรกฎาคม 2567ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการภายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดย กกพ.เสนอแนวทาง 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 จากผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ทำให้ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 จำนวน 34.40 สตางค์ต่อหน่วย และเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่ภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤติของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟที ขายปลึกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 44% จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 2 กรณีที่จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่าเอฟทีขายปลีก เท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 -เมษายน 2567 ออกเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 32,832 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 54.46 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือ และลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับค่าไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟที ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน
กรณีที่ 3 กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่าเอฟทีขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.40 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน2567 ออกเป็น 6 งวด งวดละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 27.73 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้ โดยคาดว่าในเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นเป็น 11% จากงวดปัจจุบัน
ผลจากการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นให้ตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18บาทต่อหน่วย และไม่เห็นด้วยต่อการขึ้นค่าไฟถึง 26.03% และบางส่วนเห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1-3 ซึ่งยอมให้ค่าไฟปรับขึ้น เพื่อให้มีการชำระคืนหนี้ กฟผ.และ ปตท. ให้แล้วเสร็จ
เบื้องต้นมีกำหนดชำระคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ส่วนหนึ่งประมาณ 3,200 ล้านบาท ยังเหลือหนี้คงค้างที่ต้องชำระอีก 95,500 ล้านบาท และเหลือหนี้คงค้างส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บที่ยังไม่ได้ชำระคืนให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีก 15,000 ล้านบาท รวมหนี้ทั้งหมดค้างชำระอยู่ประมาณ 1.15 แสนล้านบาท
“หากแนวโน้มค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นในปีหน้ามีอัตราที่ถูกลง ก็อาจจะทำให้ค่าไฟยังคงอยู่ที่ 4.18 เช่นเดิม แต่ว่าจะตึงไว้ในราคานี้ได้นานแค่ไหนนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาสนับสนุนด้วย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายหนี้และการแบกรับหนี้สินของ กฟผ.ด้วยเช่นกัน ในส่วนของค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2568 จะมีราคาเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก โดยหวังว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ความต้องการในการใช้ก๊าซน่าจะมีแนวโน้มที่ลดน้อยลง ส่งผลให้สถานการณ์ราคาก๊าซในตลาดโลกที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจะมีโอกาสอ่อนตัวลง จากปลายปีนี้ที่ราคาก๊าซจะอยู่ที่ประมาณ 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งทาง กกพ. ได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดและคาดว่าจะอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ แต่ก็ต้องติดตามปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน” ดร. พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย