กสทช. แนะประชาชนเลือกซื้อแบตเตอรี่ได้มาตรฐาน – ใช้งานแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน


Cr ภาพ : FB ศูนย์ซ่อมสมาร์ทโฟนโดยตรงทุกอาการเสีย ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ต.สลกบาตร จ.กำแพงเพชร

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกันเปิดโครงการ “รณรงค์ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานของแบตเตอรี่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่” ภายใต้แนวคิด “ปลอดภัยใช้ดี เลือกแบตเตอรี่มีมาตรฐาน” เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินจากการใช้แบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐาน

กสทช.แนะประชาชนเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ ใช้งานแบตเตอรี่ที่ถูกวิธี

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากสถิติจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 124.63 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากร 69.11 ล้านคน โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่ในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ แบตเตอรี่เสื่อม เนื่องจากใช้งานขณะชาร์จไฟ และการใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการใช้งานแบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผิดวิธีอาจจะนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

สำนักงาน กสทช.จึงได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งที่มาพร้อมกับเครื่องหรือการเลือกซื้อแบตเตอรี่ใหม่ จึงได้เปิดโครงการ “รณรงค์ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานของแบตเตอรี่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่” ภายใต้แนวคิด “ปลอดภัยใช้ดี เลือกแบตเตอรี่มีมาตรฐาน” โดยสำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมทดสอบมาตรฐาน และให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ ผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน รวมถึงการใช้งานแบตเตอรี่ที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากกรใช้แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช.

โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสินค้าโดยสังเกตเครื่องหมาย NBTC ID บนกล่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีซื้อเครื่องใหม่และเครื่องหมาย มอก. บนแบตเตอรี่ กรณีซื้อเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยและผ่านมาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันแบตเตอรี่ติดมากับตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เลยไม่ได้แยกชิ้นส่วนออกมาอย่างในอดีต ดังนั้นสำนักงาน กสทช.จึงทำได้เพียงสุ่มตรวจการนำเข้าของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละค่ายที่ออกมาในแต่ละรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่พบปัญหาอย่างไรก็ตามจะพบว่ามีปัญหาก็ต่อเมื่อผู้บริโภคนำไปชาร์จกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วเกิดประกายไฟ ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปะทุระเบิดขึ้นได้

กสทช. จัดทำแอพพลิเคชั่น MoCheck ตรวจสอบมาตรฐานมือถือ เบื้องต้นใช้งานได้เฉพาะระบบ Android

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่น MoCheck ซึ่งจะทำให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใด หรือรุ่นที่สนใจจะซื้อผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากสำนักงาน กสทช. เพื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาจากการใช้งานเครื่องที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน เช่น แบตเตอรี่บวมแล้วระเบิด เป็นต้น

โดยแอพพลิเคชั่น MoCheck จะเป็นระบบค้นหาอัจฉริยะที่ค้นได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากยี่ห้อ รุ่น โรงงานผู้ผลิต ชื่อผู้ประกอบการ ประเภทหรือชนิดของเครื่อง หมายเลขรับรองมาตรฐาน และหมายเลข NBTC ID ซึ่งเมื่อค้นเจอข้อมูลจะแสดงทั้งโลโก้ รุ่น หมายเลขรับรอง ชื่อผู้ยื่นขอรับรอง ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ติดต่อ อีเมล์ ภาพถ่าย ข้อมูลรายละเอียดทางเทคนิค ภาพสำเนาใบรับรอง เป็นต้น

ปัจจุบัน MoCheck สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้วสำหรับผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ในส่วนของ iOS อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ทั้งนี้สำนักงาน กสทช.กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น MoCheck ให้มีเวอร์ชั่นใหม่ ๆ รองรับโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ให้มีการตรวจสอบลงลึกถึงสมรรถนะของโทรศัพท์รุ่นนั้น ๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต

เวทีเสวนาเรื่องมาตรฐานของแบตเตอรี่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่
เวทีเสวนาเรื่องมาตรฐานของแบตเตอรี่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่

รณรงค์ใช้แบตเตอรี่มือถือของแท้ที่ได้ รับรองมาตรฐานตามที่กำหนด

เรืองฤทธิ์ หนิแหนะ หัวหน้าห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัย ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ในอดีตตัวเครื่องแบตเตอรี่กับตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่แยกจากกัน ซึ่งจะพบปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ไม่มีคุณภาพในการนำมาเปลี่ยนใส่ เมื่อประชาชนนำไปยังตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ ร้านค้าที่รับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ไม่มีคุณภาพ มีสินค้าลอกเลียนแบบที่ภาครัฐอาจจะสุ่มตรวจสอบไม่เจอ แต่ในปัจจุบันนี้โชคเป็นที่น่ายินดีที่แบตเตอรี่และตัวเครื่องแนบมาด้วยกันไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ ทำให้ประชาชนที่ใช้งานมั่นใจในระดับหนึ่งว่าได้แบตเตอรี่ของแท้ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เพราะการนำเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตรวจสอบตราสัญลักษณ์ มอก. ที่มีพร้อมด้วยตัวเลข 2217 ต่อท้าย ซึ่งหากเป็นของแท้จะต้องมีเครื่องหมายและตัวเลขทั้งสองนี้อยู่บนตัวเครื่องกำกับ แต่หากมีเพียงสัญลักษณ์ใดสัญลักษณ์หนึ่งให้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นของลอกเลียนแบบ หรือของปลอม อย่าซื้อมาใช้อย่างเด็ดขาดและควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการเข้าไปตรวจสอบ “อยากขอความร่วมมือของประชาชนที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ซื้อโทรศัพท์จากร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของเครือข่าย

โทรศัพท์เคลื่อนที่ ตู้ขายโทรศัพท์ที่ได้รับการรับรองจากทางภาครัฐ ซึ่งมีใบรับรองติดไว้ทุก ๆ ร้าน แม้ราคาจะแพงสักนิดแต่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินควรพิจารณาในการเลือกซื้ออย่างรอบคอบ ซึ่งกว่า 95% จะซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้มาตรฐาน อีกประมาณ 5% จะซื้อตามตลาดนัดหรือลักลอบซื้อจากต่างประเทศ แล้วนำมาใช้อาจจะเกิดปัญหาโทรศัพท์ไม่ได้มาตรฐาน เกิดปัญหาแบตเตอรี่เสื่อม เมื่อเกิดการเสียดสีอาจจะมีปัญหาเรื่องประจุไฟเกิดทำให้ระเบิดเป็นอันตรายได้” เรืองฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้จะต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนสม่ำเสมอให้เลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายที่แสดงถึงการรับรองที่ออกโดยหน่วยงานที่ดูแลอย่างเคร่งครัดแม้จะต้องใช้เวลาก็ต้องทำเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุก ๆ คน

กสทช. แนะประชาชนเลือกซื้อแบตเตอรี่ได้มาตรฐาน - ใช้งานแบตเตอรี่อย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

สร้างความตระหนักรู้ถึงโทษของการใช้มือถือที่ไม่ได้มาตรฐาน และเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ไม่ได้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ธีระ ริมปิรังษี ผู้อำนวยการฝ่ายการมาตรฐานและคุณภาพ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า โดยเฉลี่ยแล้วการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนผู้ใช้งานจะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก ๆ 2 ปี ทำให้เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ที่มีคำเตือนเขียนติดไว้ที่ตัวแบตเตอรี่ และการใช้งานที่ชาร์จด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ชาร์จแบตเตอรี่ไปคุยไป ล้วนแล้วแต่ส่งผลอันตราย ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต อย่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเข้าไปควบคุมดูแลตั้งแต่กระบวนการทดสอบการผลิตแบตเตอรี่ ตรวจสอบคุณภาพของโรงงานที่ขอทำการผลิตแบตเตอรี่อยู่แล้วอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง หรือแม้แต่การขอสินค้านำเข้ามาจำหน่ายก็ต้องผ่านหน่วยงาน สมอ. หากไม่มีการผ่านหน่วยงานทั้งหมดนี้ก็จะไม่สามารถนำจำหน่ายในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดก็ยังมีการลักลอบการนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งผู้บริโภคเองก็ยังสนับสนุนซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งลักลอบมาจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐแต่อย่างใด

“ดังนั้นการให้ประชาชนผู้บริโภคเห็นถึงโทษของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการใช้และเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ไม่มีคุณภาพจะมีอันตรายอะไรบ้างอย่างสม่ำเสมอ โดยนำเสนอองค์ความรู้เหล่านี้ตั้งแต่ต้นน้ำกระบวนการผลิต การใช้งาน การทิ้งและแนวทางกำจัดเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะค่อย ๆ ซึมซับการใช้งานให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายมากขึ้นแม้จะต้องใช้เวลาเป็นปีหรือ 2-3 ปี ก็ควรรณรงค์เรื่องนี้ต่อไปให้มากขึ้น” ธีระ กล่าว

ส่วนการทิ้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือทิ้งแบตเตอรี่แบบเก่าอย่างถูกวิธีเพื่อให้เกิดการนำแบตเตอรี่ที่มีค่ากลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ก็จะมีส่วนช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ได้อีกทางหนึ่ง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save