สนข.- GIZ เผยผลสำเร็จมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แนะจัดเก็บต่อถึงปี’73 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีปิดโครงการ “การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน” เพื่อรายงานความสำเร็จและถอดบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานด้านการลดการใช้น้ำมันของยานพาหนะและลดการปล่อยมลพิษจากภาคการขนส่ง

ในส่วนของประเทศไทย โครงการฯ ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 พร้อมทำการศึกษานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคขนส่งทางบก โดยพบว่ามาตรการการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตฯ นี้ กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เกิดการปรับตัวที่จะผลิตรถใหม่ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ลดการใช้น้ำมันเฉลี่ยจาก 7.08 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2558 เหลือเพียง 6.75 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับรถใหม่ทุกคันที่ออกจำหน่าย

ภาคขนส่งปล่อยก๊าซ CO2 สูงถึง 61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 19.2 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย

ฯพณฯ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การใช้พลังงานจากภาคการขนส่ง นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหา PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้แล้ว ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะแปรผันกับการใช้พลังงาน กล่าวคือ ยิ่งมีการใช้พลังงานจากภาคการขนส่งมาก ก็ยิ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์มาก ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ที่สำคัญก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถสลายไปได้ ต่างจากฝุ่น PM 2.5 ที่จะสลายไปได้ตามธรรมชาติเมื่อเจอฝนและลมมรสุม

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
ฯพณฯ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

“การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งที่สูงถึง 61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19.2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกท่านควรใส่ใจอย่างยิ่ง เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว” ฯพณฯ อาคม กล่าว

แนะรัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตต่อเนื่องถึงปี’73 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ด้าน Caroline Capone ผู้อำนวยการโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน GIZ กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยมีนโยบายการขนส่งยั่งยืนที่พัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยโครงการฯ เข้ามาผลักดันให้เกิดการปรับปรุงมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าวให้ดีขึ้น และพบว่ามาตรการการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตฯ นี้ กระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เกิดการปรับตัวที่จะผลิตรถใหม่ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ส่งผลให้เกิดการลดการใช้น้ำมันเฉลี่ยจาก 7.08 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2558 เหลือเพียง 6.75 ลิตรต่อ 100 กม. ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับรถใหม่ทุกคันที่ออกจำหน่าย

Caroline Capone
Caroline Capone ผู้อำนวยการโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการขนส่งทางบกในภูมิภาคอาเซียน GIZ

หากประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามการปล่อยมลพิษในลักษณะนี้ต่อไป ในปี พ.ศ. 2573 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และหากมีการปรับปรุงมาตรการทางภาษีที่เข้มข้นขึ้นร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถจักรยานยนต์ การปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการปรับปรุงอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น ก็จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก 4.75 ล้านต้น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปีพ.ศ. 2573 คิดเป็นร้อยละ 29 ของเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง ตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21)

“แม้ว่าโครงการฯ จะสิ้นสุดลง แต่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีจะยังคงอยู่ โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 นี้ GIZ จะดำเนินงานเกี่ยวกับการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน การแก้ไขการจราจรติดขัด การลดมลพิษทางอากาศ และการทำให้ชีวิตในเมืองน่าอยู่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและในเมืองรองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว” Caroline Capone กล่าว

เผยภาคพลังงาน ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศ

ชุตินธร มั่นคง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2558 พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ถ้อยแถลงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี ค.ศ. 2020 หรือ การลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมุ่งมั่นของประเทศ (Intended Nationally Determined Contributions: INDCs) โดยประเทศไทยจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน (Economy Wide) ร้อยละ 20-25 ประมาณ 110-140 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ทั้งนี้พบว่าภาคพลังงาน เป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศ

ชุตินธร มั่นคง
ชุตินธร มั่นคง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 41 ล้านคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในรถยนต์อีก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สนข. วางแผนเชื่อมโยงการเดินทางรูปแบบใหม่ มั่นใจลดก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งได้เกินเป้า

สำหรับมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สนข.ได้วางรูปแบบ ลด (Avoid) เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง (Shift) และปรับปรุง (Improve) ในส่วนของการลดระยะเวลาการเดินทาง ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง ให้ใช้รถไฟฟ้า และรถบริการสาธารณะ ลดก๊าซเรือนกระจก 5.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการพัฒนารถประจำทาง ให้มาใช้พลังงานทางเลือก เช่น NGV ไฮบริด ใช้รถไฟฟ้าขนส่งสินค้า คิดเป็น 18.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“การจะทำให้ได้ตามเป้า 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จะต้องเชื่อมโยงการเดินทาง พร้อมวางรูปแบบ ลด (Avoid) เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง (Shift) และปรับปรุง (Improve) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 16.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมถึงการพัฒนารถประจำทาง ให้มาใช้พลังงานทางเลือก คิดเป็น 18.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ นโยบายดังกล่าวของสนข. ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการแล้ว” ชุตินธร กล่าว

เผยรถยนต์ที่ออกสู่ท้องตลาดในปี’60 ราว 1 ล้านคัน ประหยัดน้ำมันได้ 4 %

ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านการประหยัดเชื้อเพลิง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า การปรับขนาดเครื่องยนต์ให้เล็กลง หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องยนต์ ทำให้ลดการใช้พลังงาน นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้รถยนต์มีขนาดเล็กลง คือ 1 ตัน และรถปิกอัพมีขนาด 2 ตัน ในแต่ละปีมีปริมาณยานยนต์เพิ่มขึ้น 1.8 ล้านคัน คิดเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 4 ล้อ ประมาณ 1 ล้านคัน ที่เหลือเป็นรถปิกอัพ 8 แสนคัน จากการเปรียบเทียบในปีพ.ศ.2560 หลังจากภาครัฐประกาศจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตไปแล้ว 1 ปี เทียบกับปีพ.ศ.2556 พบว่า รถยนต์ที่ออกสู่ท้องตลาดในปีพ.ศ.2560 จำนวน 1 ล้านคัน ประหยัดน้ำมันได้ 4 %

ดร.นุวงศ์ ชลคุป
ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านการประหยัดเชื้อเพลิง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

อีซูซุปรับขนาดเครื่องยนต์ ประหยัดน้ำมันกว่า 700 ลิตรต่อปี เตรียมเปิดตัวรถบรรทุก 6 ล้อไฟฟ้าในอนาคต

สยามณัฐ พนัสสรณ์ ผู้จัดการส่วนนโยบายวิศวกรรมและวางแผนธุรกิจ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ภาษีสรรพาสามิตถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของผู้ประกอบการรถยนต์ จากนโยบายการจัดเก็บภาษีดังกล่าวถือว่าได้ผลมาก ทำให้ค่ายรถต่าง ๆ หันมาพัฒนาขนาดเครื่องยนต์ให้มีขนาดเล็กลง ในรูปของรถอีโคคาร์ต่าง ๆ ในส่วนของอีซูซุได้ปรับขนาดเครื่องยนต์รถปิกอัพให้เล็กลง เหลือ 1.9 ลิตร จากเดิม 2.5 ลิตร ขณะเดียวกันได้เพิ่มแรงม้ามากขึ้น ทำให้รถปิกอัพอีซูซุขนาด 1.9 ลิตร ถือเป็นรถปิกอัพที่ประหยัดน้ำมันมากที่สุดในตลาด คิดเป็นน้ำมันที่ประหยัดได้กว่า 700 ลิตรต่อคันต่อปี หรือมากกว่า 700 ล้านลิตรต่อปี ช่วยชาติประหยัดพลังงานได้ 200 ล้านบาท และในอนาคตอีซูซูจะเปิดตัวรถ ISUZU ELF EV รถบรรทุก 6 ล้อไฟฟ้า 100 %

สยามณัฐ พนัสสรณ์
สยามณัฐ พนัสสรณ์ ผู้จัดการส่วนนโยบายวิศวกรรมและวางแผนธุรกิจ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

พร้อมกันนี้ อีซูซุได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และเสนอให้มีการใช้ B20 เป็นทางเลือก โดยอีซูซุ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) มีดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านการประหยัดเชื้อเพลิง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาน้ำมันไบโอดีเซล B20 ภายใต้โครงการความร่วมมือขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA กับประเทศไทย เพื่อใช้ในรถปิกอัพอีซูซุ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มอีกด้วย

ไทยตั้งเป้าปี’79 มีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน เผยปีนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 1 หมื่นคัน

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ผลักดันนโยบายพลังงาน 4.0 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยตั้งเป้าปีค.ศ.2036 หรือพ.ศ.2579 มีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 1.2 ล้านคัน จากการดำเนินการราว 2-3 ปี จะเห็นได้ว่าจะมีกลุ่มรถยนต์ไฮบริดค่ายรถยุโรป เช่น Merzedes Benz, BMW ในปีที่ผ่านมา มีรถยนต์ไฟฟ้า 100% ประมาณ 4-5 แบรนด์ ด้วยเหตุนี้ ในบริเวณที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าและโรงแรมชั้นนำจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับ ในส่วนของสมาคมฯ ช่วยผลักดันการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครบ 100 หัวจ่าย จากเดิมที่มี 80 หัวจ่าย

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล
ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

“ในประเทศไทย มีปริมาณการใช้รถบรรทุกจำนวนมาก หากรถบรรทุกสามารถพัฒนาเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าได้ด้วย จะช่วยประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น คาดว่าในส่วนของรถบรรทุกก็จะเปิดตัวรถบรรทุกไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้ ขณะที่รถยนต์ของไทยมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว การมีรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้นเช่นกัน ขณะนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าประมาณหนึ่ง หมื่นคัน คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นโมเดลรถไฟฟ้าใหม่ๆ มากขึ้น ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาสูง หากภาครัฐและเอกชนมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจับต้องได้ และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น” ดร.ยศพงษ์ กล่าว

เครื่องยนต์ใหม่ ISUZU ขนาด 1.9 ลิตร ประหยัดน้ำมัน
เครื่องยนต์ใหม่ ISUZU ขนาด 1.9 ลิตร ประหยัดน้ำมัน

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save