ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “มีคุณพ่อเป็นแบบอย่างในการเรียนและการทำงานให้ประสบความสำเร็จ”


ในปีพ.ศ.2560 บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS ได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านผลการดำเนินงานยอดเยี่ยม ( Best Company Performance) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในงาน SET Awards 2017 ทั้งนี้ PPS เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาด MAI เพียง 5 ปีเท่านั้น ถือเป็นบริษัทน้องใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณ ที่มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพวิศวกรรมและรับผิดชอบต่อสังคม การที่ PPS ได้รับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเจนเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งรับช่วงต่อจากคุณประสงค์ ธาราไชย ได้เป็นอย่างดี

พงศ์ธร ธาราไชย
ดร.พงศ์ธร ธาราไชย

ดร.พงศธร กล่าวว่า บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด เป็นบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง ก่อตั้งโดยคุณประสงค์ ธาราไชย ซึ่งเป็นคุณพ่อ ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2530 และเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปี 2555 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน มีบริษัทในเครือที่แตกแขนงความสามารถเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ แบบครบวงจร เช่น PPS Design ออกแบบก่อสร้าง Swan & Maclaren ออกแบบงานสถาปัตยกรรม BUILK พัฒนางานไอทีที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง อย่างแอพพลิเคชั่น PPS SiteWalk ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้วิศวกรใช้ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ภายใต้นโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯตามหลักธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณ ที่มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพวิศวกรรมและรับผิดชอบต่อสังคมตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ดร.พงศธร ได้เริ่มต้นเข้ามาทำงานที่ PPS ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวภายหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอก Doctor of Engineering, Kyoto University, Japan โดยก่อนหน้านั้นได้จบการศึกษาระดับปริญญาโท Master of Science in Engineering, University of Illinois at Urbana – Champaign, USA และระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงด้วยปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีก 1 ใบ

“คุณประสงค์ ธาราไชย ซึ่งเป็นคุณพ่อ ถือเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนวิศวกรรมโยธาและการทำงานที่ PPS และงานอื่น ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ทำให้การเข้ามาทำงานที่ PPS มีความกดดันมากกว่าที่อื่น ๆ ด้วยเพราะผมเป็นลูกคุณประสงค์ย่อมมีความคาดหวังจากหลาย ๆ คนมากเป็นพิเศษว่า ต้องทำงานได้ดีและประสบความสำเร็จเหมือนคุณพ่อ ทำให้มีความกดดันถาโถมเข้ามามากจากทุก ๆ ทาง แต่ก็สามารถใช้ประสบการณ์ทำงาน การเรียน ทีมงานที่มีร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่ตำแหน่งแรกคือ วิศวกร จนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการ ในโปรเจกต์สำคัญต่าง ๆ เช่น งานสะพานข้ามแยก งานทางด่วน งานอุโมงค์ รวมทั้งงานรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน และสามารถนำ PPS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2555ได้สำเร็จ”

ด้วยมองว่าวิกฤตและอุปสรรคในการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีและพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ทำให้ดร.พงศธร ไม่หวั่นวิตกต่ออุปสรรคและวิกฤตที่เข้ามา ตรงกันข้ามกลับเตรียมความพร้อม พัฒนาตนเอง เพื่อพร้อมเผชิญกับทุก ๆ ปัญหาและอุปสรรคในทุกช่วงชีวิตที่จะเข้ามาโดยตั้งอยู่บนความไม่ประมาท

“ถ้าคิดว่าลำบากก็ลำบาก อย่างตอนเรียนปริญญาโทผมก็ว่าผมลำบากนะ เพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในประเทศไทย บริษัทฯ ก็ได้รับผลกระทบ คุณแม่ต้องไปแลกเงินที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จากที่เคยแลก 25 บาทไทยต่อ หนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ตอนนั้นจำได้ว่าต้องใช้เงินไทยสูงถึง 40-50 บาทกว่าจะแลกได้หนึ่งดอลลาร์ฯ เพื่อให้ผมไปเรียนต่อและจ่ายค่าเทอมในเทอมแรกเอง เพราะทางรัฐบาลไทยยังไม่ได้ส่งเงินค่าเทอมและค่าใช้จ่ายไปให้จากการสอบได้ทุนหลวง เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานก็ยังอยู่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ การทำงานทุกอย่างจึงต้องค่อย ๆ ทำอย่างไม่ประมาท แต่ก็ยังโชคดีที่บริษัท PPS ได้ทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินทำให้ไม่ต้องเลย์ออฟพนักงานเหมือนบริษัทอื่น ๆ

“เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตของผมนั้น เมื่อก่อนผมมองตัวเองว่าเป็นเสือ แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นกับหุ้นฟิวเจอร์ฟันด์ที่ผมเล่น ทำให้ผมขาดทุนและหมดตัวไม่เป็นท่า ทำให้ผมพบว่าผมไม่ใช่เสือ ผมไม่ได้เก่งตลอดเวลา แต่จริง ๆ แล้วผมเก่งเฉพาะด้าน ถามว่าตอนนั้นดูแลตัวเองอย่างไร ตอบเลยว่า ดูแลตัวเองอย่างคนเข้าใจชีวิตมากขึ้นบนพื้นฐานความไม่ประมาท และอีกคำที่ผมมักจะใช้ คือคำว่า ‘ไม่ล้มเลิก ในการทำงาน’ ทำทุกอย่างในชีวิตในการแก้ปัญหา ถ้าคุณยังไม่ตายคุณก็ทำงานไป ทำให้มีความพยายามในการทำงานมากขึ้น”

ดร.พงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “มีคุณพ่อเป็นแบบอย่างในการเรียนและการทำงานให้ประสบความสำเร็จ”

ดร.พงศธร กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นวิศวกรและทำงานทางด้านวิศวกรรม จึงได้นำ Logic ทางด้านวิศวกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานที่เป็นระบบ เนื่องจากช่วยสอนให้วิศวกรคิดอย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำคนรอบข้างที่ร่วมทำงานด้วย เพื่อให้การทำงานมีความเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น

“ผมเรียนวิศวกรรมมาจึงถูกสอนให้อยู่ในระบบมาตลอดทำให้การทำงานค่อนข้างมีระเบียบ ลูกน้องก็จะเครียดบ้างเพราะเป็นคนที่เครียดมาก เวลาทำงานผมจะคอยจี้ จะคอยสอบถามว่างานมาแล้วหรือยัง งานที่ให้ไปทำไปถึงไหนแล้ว เมื่อทำไม่เสร็จไม่ทันตามกำหนดก็อาจจะโดนต่อว่าบ้าง ซึ่งการต่อว่าของผมก็เหมือนสอนไปด้วย ไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจไหม ก็มีเหมือนกันคนที่ไม่เคยโดนผมต่อว่า นั่นแสดงว่าคนนั้นผมไม่เคยคุยด้วยมากกว่า เพราะผมจะมีคนคุยด้วยสองประเภท คือคนที่สอนได้ คุยได้ กับคนที่ผมไม่สอนและไม่คุยด้วย ซึ่งคนที่ผมไม่คุยด้วยเพราะว่าผมก็คิดว่าผมเสียเวลาคุยเสียเวลาสอนงานเขา และเสียเวลาเขาด้วย การสอนใครถ้าเขาไม่ฟังก็ไม่ต้องสอน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ผมไม่คุยด้วยไม่สอนงานให้เขา ไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่เขาไม่เหมาะกับการทำงานที่ PPS และไม่เหมาะกับการทำงานร่วมกับผมมากกว่า”

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการคนในทุก ๆเจนเนอเรชั่น เพื่อให้ทำงานอยู่ร่วมกันในบริษัทได้อย่างปกติสุข โดยพัฒนาให้ PPS ดีขึ้นในทุก ๆ วัน มีการทำงานเป็นทีม และแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน ทั้งการชื่นชมการทำงานของเพื่อนที่ทำด้วยกัน และชื่นชมความสำเร็จของคนอื่น รวมทั้งชื่นชมความสำเร็จของการทำงานเป็นทีม ซึ่งก็คือ ทีม PPS

นอกจากหลักการทำงานที่เป็นระบบและบริการจัดการบุคลากรให้ทำงานกันเป็นทีมแล้ว PPS ภายใต้การบริหารของดร.พงศธร ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนางาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานทางด้านวิศวกรรม เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดทอนเวลาที่ไม่จำเป็นออกไปจากระบบการทำงาน ช่วยให้ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลง

สำหรับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นแนวนโยบายของภาครัฐนั้น ดร.พงศธร มองว่า จะต้องรอดูท่าทีในปี 2561 ว่ารัฐบาลจะยังเดินหน้าสานต่อนโยบายการนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยเปลี่ยนมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทุก ๆ ปี เช่น ก่อนหน้านี้เคยมีนโยบาย Startup Thailand แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น Thailand 4.0 ซึ่งหากจะพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 จริง คนของคุณจะต้องพัฒนาและเข้าใจในนโยบายนี้ก่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจก่อนปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ๆ

“คุณจะบอกว่าคุณอิมพอร์ตเทคโนโลยีเข้ามา แล้วจะมาเป็น Thailand 4.0 ในทันทีนั้น ผมบอกเลยว่าไม่มีทางเป็นไปได้ในเร็ววัน เพราะถ้าผู้ใช้คือคนไทยของคุณยังใช้ไม่เป็น ไม่เข้าใจในเทคโนโลยีที่นำเข้ามา ไม่มีการสอนในตำรา ในคณะ ตามตำราของกระทรวงศึกษา มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าวิศวกรของคุณ ยังผลิตเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นใช้ได้เองภายในประเทศไม่ได้ แล้วทำการสั่งซื้ออยู่ตลอดไม่นานจะเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ อีกประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่ในประเทศไทยสมัยนี้ชอบคิดว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น คิดไม่ออก คิดอะไรก็ไม่ได้ ต้องลองย้อนกลับไปถามว่าผู้ใหญ่นะเคยให้โอกาสเด็กได้คิดอะไรบ้าง คุณสั่งเขาแล้วทำให้เขาเชื่อเพียงอย่างเดียว ทำตามผู้ใหญ่ตลอดเวลาจนเด็กไร้จินตนาการในการคิดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของไทยรองรับ Thailand 4.0” ดร.พงศ์ธร กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าฟัง


ที่มา : Engineering Today No 162 November -December 2017


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save