สผ. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำเสนอร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ชี้มี 4 ประเด็นต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน


สผ. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำเสนอร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ชี้มี 4 ประเด็นต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดประชุมสัมมนาเพื่อนำเสนอร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุงร่างรายงานดังกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ต้องเสนอรายงานสถานการณ์คุณภาพ สิ่งแวดล้อมของประเทศต่อครม.ปีละครั้ง

พุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์

พุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำร่างรายงานสถานการณ์ตุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยการกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามมาตรา 13 (13) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายและการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ทุกภาคส่วน บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆที่ได้จากการประชุมสัมมนานี้จะนำไปปรับปรุงร่างรายงานดังกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของร่างรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เทียบข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมปีต่อปี

ธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า รายละเอียดและสาระสำคัญของร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เป็นการเสนอข้อมูลสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมใน พ.ศ. 2562 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2561 พบว่า สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีขึ้น คงที่ และสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยสถานการณ์ที่ดีขึ้น เช่น มีพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้น, มูลค่าการผลิตและใช้แร่ในประเทศลดลง, ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น, ประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีขึ้น, พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น, จำนวนและพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มขึ้น, ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น, พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น, พื้นที่แนวปะการังเพิ่มขึ้น, มีการใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น, ปริมาณของเสียอันตรายลดลง,สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อคนในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น, จำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครลดลง และคุณภาพน้ำผิวดิน ณ จุดตรวจวัดดีขึ้น เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมคงที่่ เช่น ปริมาณน้ำฝนสะสมรายปีใกล้เคียงค่าปกติ, ปริมาณน้ำท่าใกล้เคียงปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา, ปริมาณการจับสัตว์น้ำเค็มจากธรรมชาติคงที่, ระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, แหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี, อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทย, ค่าเฉลี่ยระดับน้ำทะเลคงที่ และปริมาณน้ำท่าในประเทศไทยทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เป็นต้น ขณะเดียวกัน มีประเด็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น พื้นที่ดินปัญหาตามสภาพธรรมชาติเพิ่มขึ้น, ปริมาณการนำเข้าพลังงานขั้นต้นและการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น, จำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มขึ้น, ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานแล้วเพิ่มขึ้น, ฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐานในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นและพื้นที่อุตสาหกรรม, บางพื้นที่ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และขยะพลาสติกยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดในขยะทะเล เป็นต้น

ขยะทะเล

แนวโน้มสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต มีทั้งที่เปลี่ยนแปลงในระยะสั้นช่วง 1-2 ปี ได้แก่ 1.ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีปริมาณมลพิษทางอากาศที่มาจากการจราจรที่หนาแน่น พื้นที่เขตอุตสาหกรรม การเผาซากพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรและภัยธรรมชาติ จึงควรหามาตรการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 และควรกำหนดพื้นที่ให้ประชาชนจอดรถส่วนบุคคลในย่านชานเมืองแล้วขึ้นรถโดยสารเข้าเมืองแทน ทั้งนี้รัฐบาลต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพรองรับด้วย 2.ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน จะพบมากในเขตชุมชนเมืองและแหล่งท่องเที่ยวจึงควรหามาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง ออกกฎหมายเพิ่มอัตราค่าเก็บขยะ ค่ากำจัดขยะ และ3. ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน จากสภาพธรรมชาติ การตกค้างของสารอันตรายทางการเกษตร และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ควรหันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายดินและควรระบุที่เกิดปัญหาให้ชัดเจนในแต่ละพื้นที่ว่าเกิดขึ้นที่ใดบ้าง เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว 3-10 ปี ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านสังคม ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพิ่มขึ้น อาจเกิดความไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันของคนในสังคม จึงควรหามาตรการลดการเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ให้ทุก ๆ คนในสังคมมีโอกาสเข้าถึงและใช้พื้นที่ ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกันโดยไม่เกิดการทะเลาะแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติ 2. การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี เพิ่มการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่การจราจรหนาแน่นในกรุงเทพฯ เมื่อตรวจพบพื้นที่ใดก็จำกัดปริมาณรถเข้าออกพื้นที่นั้นอย่างเร่งด่วน พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นน้ำช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เพิ่มการผลิตและมลพิษที่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมลง จึงควรจำกัดพื้นที่การผลิตที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติให้ผลิตเฉพาะในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม หรือมีการออกกฎหมายเก็บค่าปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษกับสถานประกอบการ โรงงานที่ก่อมลพิษเกินที่กฎหมายกำหนด การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่หมดลงอย่างรวดเร็ว จึงแนะนำให้ช่วยกับปลูกป่า ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองที่มีอยู่ช่วยเพิ่มพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ สร้างแหล่งอาหารทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านนโยบายที่มาจากรัฐบาลแต่ละยุคสมัยจะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันและไม่ต่อเนื่อง

อีกทั้งงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมีค่อนข้างจำกัดทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สะสมมาตลอดไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาหมอกควัน ปัญหาขยะทางทะเล

“อยากให้รัฐบาลยกระดับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนแม่บทแก้ปัญหาแต่ละด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติทำงานสืบสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่สมัยก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานตามแผนให้บรรลุตามเป้าประสงค์” ธนิรัตน์ กล่าว

ชู 4 ประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ นักวิจัย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ามีประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 4 ประการแรก ประการแรก คือ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งประเทศไทยมีระดับความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกในหลายพื้นที่ หากสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินกำหนดเป็นระยะเวลานานๆจะเป็นอันตรายได้ จึงควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 แบบเรียลไทม์เพื่อจะได้ทราบละเอียดแล้วจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาทันสถานการณ์, ส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในภาคการขนส่ง, ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น, เคร่งครัดการตรวจสอบการปล่อยมลพิษ และควรมีการจัดเก็บข้อมูลการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียดเพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลสำหรับนำมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน

ประการที่ 2. ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่เกิดจากชิ้นส่วนต่างๆของขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบที่ภายในประเทศและนำเข้ามาจากต่างประเทศ หากไม่มีวิธีการจำกัดที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ เมื่อเกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เกิดสารตกค้างจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จึงควรมีการศึกษาและวิจัยการป้องกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งควรมีการออกกฎหมายควบคุม กำหนดโทษที่ร้ายแรงแก่ผู้ที่กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งปรับและจำคุก

ประการที่ 3. ปัญหาขยะพลาสติก เป็นปัญหาที่เกิดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมการบริโภค การขยายตัวของชุมชนเมืองและธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกทั้งจิตสำนึกในการรับผิดชอบรักษาสิ่งแวดล้อมช่วยกันลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ใช้เป็นประเภทไม่สามารถรีไซเคิลได้กว่า 50% ยิ่งก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์ทะลทำให้เสียชีวิตได้เมื่อกลืนกินถุงพลาสติกเข้าไป จึงควรมีการศึกษาและวิจัยพัฒนาวัสดุทดแทนผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกที่กำจัดยากนี้ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือย่อยสลายได้ทันทีเมื่อใช้เพียงครั้งเดียว รวมทั้งมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะพลาสติกและพัฒนากฎหมายเฉพาะที่ควบคุมและดูแลขยะพลาสติกโดยเฉพาะ

ประการที่ 4. ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับประเทศไทยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมีระยะทางประมาณ 145.73 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่ได้รับการแก้ไขแล้วประมาณ 558.71 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากภัยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่งทะเลและการทำลายป่าชายเลนเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงควรมีการบูรณาการกำกับและติดตามให้มีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตั้งแต่ระดับประชาชน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ออกกฎหมายกำหนดประเภทหรือรูปแบบสิ่งก่อสร้างคุ้มครองพื้นที่ชายหาด ชายฝั่งไม่ให้ถูกทำลายและมีการชดเชยเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายหาดย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ๆ เหมาะสมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดูแลอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งไม่ให้เกิดการกัดเซาะ เนื่องจากพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกๆปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save