กทท. เปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนคลองเตย สู่ Smart Community


การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อยกระดับชุมชนคลองเตยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนพื้นที่องค์การฟอกหนังเดิม ถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

กทท. เปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนคลองเตย สู่ Smart Community
พิธีเปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย สมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ข้าราชการ พนักงาน และประชาชนร่วมพิธีเปิดโครงการฯ

ผังบริเวณโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย
ผังบริเวณโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย

โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ยกระดับชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวชุมชนคลองเตยในอนาคต ทางกทท. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดสรรพื้นที่องค์การฟอกหนังเดิม ถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กระทรวงกลาโหม จำนวน 58 ไร่ ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ภายใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) เพื่อยกระดับชุมชนคลองเตยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม ด้วยระบบบริหารจัดการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ทันสมัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่ นอกจากนี้ในอนาคตมีแผนที่จะทำรถไฟฟ้าโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เชื่อมต่อเข้ามาในบริเวณนี้ด้วย แต่ในเบื้องต้นจะนำทางรถไฟสายเก่าที่ขนน้ำมันดิบจาก จ.กำแพงเพชร มาทำเป็นรถไฟชุมชน เพื่อขนส่งประชาชนเข้ามาในบริเวณนี้ไปพลางก่อน โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ใช้รางเป็นผู้รับผิดชอบ

 

ย้อนรอยโครงการ Smart Community

สมศักดิ์ ห่มม่วง
สมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

สมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของชุมชนคลองเตยที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กทท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ขององค์การฟอกหนังเดิมทั้งสิ้น 58 ไร่ รูปแบบเป็นอาคารสูง 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวมทั้งหมด 6,144 ยูนิต มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้นรวมประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนของ กทท.เองทั้งหมด แบบห้องเป็นแบบ 1 ห้องนอน 33 ตารางเมตรทุกยูนิต ภายในบริเวณนี้นอกจากมีที่อยู่อาศัยแล้วยังมีหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สำนักงานเขตคลองเตย, สถานีตำรวจนครบาลคลองเตย, โรงเรียน, มูลนิธิ มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำกิจกรรมนันทนาการของคนในโครงการฯ มีพื้นที่สีเขียวตามโซนต่าง ๆ มีพื้นที่จอดรถเป็นสัดส่วน รวมถึงจัดพื้นที่ค้าขายให้คนในชุมชน และมีการวางระบบการคมนาคมที่รองรับการสัญจรในพื้นที่อย่างเป็นระบบให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วย

เป้าหมายของโครงการ Smart Community สร้างประโยชน์ให้กับเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม

กมลศักดิ์ พรหมประยูร
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า แผนพัฒนาพื้นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือ ชุมชนพื้นที่ กทท. 26 ชุมชนมีประมาณ 12,000 ครอบครัว ชุมชนใต้ทางด่วน 5 แห่งมีประมาณ 500 ครอบครัว และหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนจำนวนหนึ่งที่เป็นลูกจ้างของ กทท. และประชาชนภายนอกแสดงเจตจำนงเข้ามาขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ซึ่งการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวจะพัฒนาเป็นอาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น 4 อาคาร เป็นห้องพักขนาด 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ตั้งอยู่ในซอยทวีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยดังกล่าวจะได้สิทธิ์ 1 ใน 3 ทางเลือก

“หากชาวชุมชนดังกล่าวไม่อยากรับสิทธิประโยชน์เป็นห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร กทท.ยังมีทางเลือกให้อีก 2 ทาง คือ ที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอกและมีนบุรี จำนวน 2,140 แปลง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่คลองเตยที่สนใจ ลงชื่อย้ายไปอยู่สามารถนำไปปลูกเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ใช้ชีวิตตามฝัน และทางเลือกสุดท้ายเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต หากต้องการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตนเอง ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นในช่วงก่อนหน้านี้ 30% จะไม่ย้ายมาอยู่คอนโดมิเนียม แต่จะขอใช้ที่ดินที่หนองจอกและมีนบุรี และอีก 20% จะขอรับเงินก้อนเพื่อจะกลับภูมิลำเนา แต่จะต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง” รองผู้อำนวยการสายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กทท. กล่าว

ตัวอย่างห้องภายในโครงการ
ตัวอย่างห้องภายในโครงการ

อย่างไรก็ตาม กทท.จะเร่งกำหนดเงื่อนไขกับทางฝ่ายกฎหมายของกทท. โดยหลังจากนี้ กทท. จะลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนเพื่อที่จะได้จัดสรรพื้นที่ได้ตามความต้องการของประชาชนอย่างดีที่สุด คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงจะส่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับชุมชนด้วยว่า สิ่งที่ กทท.ดำเนินการนั้น เพื่อเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นธรรมแก่ทุก ๆ ฝ่าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save